Week 40 : สัปดาห์ที่ 40 ของการตั้งครรภ์



Mom : การคลอดกำลังจะเริ่มต้นขึ้นแล้ว หลังจากที่ต้องอุ้มท้องมานานถึง 9 เดือน ช่วงเวลานี้คุณแม่ควรเตรียมร่างกาย เตรียมใจให้พร้อม ตัดความกังวลใจต่างๆ ออกไปให้หมด แล้วตั้งสติ กำหนดลมหายใจ เข้า-ออก ให้สม่ำเสมอ เพื่อการคลอดที่ราบรื่น ควรทำตามที่คุณหมอและพยาบาลแนะนำระหว่างที่อยู่ในห้องคลอด

Baby : ทารกตัวโตจนเกือบจะเต็มพื้นที่ในท้องของคุณแม่แล้ว และทารกจะมีการปรับเปลี่ยนท่าใหม่ เพื่อเป็นการเตรียมตัวพร้อมสำหรับการคลอด โดยที่กลับศีรษะลงมาอยู่ตอนล่างของมดลูกในท่าขดตัวแน่น
  
ตั้งครรภ์ 40 สัปดาห์

สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์ของการรอคอยกำลังจะสิ้นสุดลงในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้านี้แล้ว คุณแม่ที่คลอดธรรมชาติให้ควบคุมสติ และลมหายใจให้ดีดี แล้วนับจังหวะ 1 2 3 ตามคำแนะนำของคุณหมอกับคุณพยายาลคนสวย จากนั้นก็ อึบบบบบบ เบ่งคะเบ่ง เพียงอึดใจเดียว คุณก็จะได้ยินเสียงที่เพราะที่สุดในโลกที่คุณได้รอคอยของขวัญชิ้นนี้มาตลอดทั้ง 9 เดือนคะ ขอให้คุณแม่คุณพ่อมือใหม่สนุกกับการดูแลเลี้ยงดูลูกตัวน้อยที่น่ารักกันนะคะ
  
สัปดาห์นี้ขอเป็นเพื่อคุณแม่ล้วนๆ ค่ะ ว่ากันด้วยเรื่องครรภ์หรือเจ็บท้องคลอดค่ะ เรามาดูกันดีกว่าว่าอาการที่เรียกว่า “เจ็บเตือน” กับ “เจ็บจริง” นั้นต่างกันอย่างไร
  
เจ็บครรภ์เตือน

 อาการเจ็บจะไม่สม่ำเสมอ ลักษณะความแรงของการหดรัดตัวของมดลูกจะคงที่ สม่ำเสมอ ไม่เพิ่มขึ้น

• จะเจ็บบริเวณท้องน้อย ไม่มีอาการร้าวไปทางด้านหลัง

• การแข็งตัวของมดลูกจะดีขึ้น หรือหายไป เมื่อเปลี่ยนอิริยาบถ

• ลักษณะของมูกเลือดที่ออกมาจะมีสีน้ำตาลมากกว่าสีชมพูหรือแดงสด

• ทารกจะดิ้นแรงขึ้น หลังมดลูกมีอาการแข็งตัวเสร็จใหม่ๆ

เจ็บครรภ์จริง

โดยทั่วไปอาการเจ็บครรภ์จริงจะเกิดต่อจากการเจ็บครรภ์เตือน โดยมดลูกจะหดตัวแรงและสม่ำเสมอขึ้น อาการเจ็บปวดจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และมีอาการดังนี้

• มดลูกจะแข็งตัวนานขึ้น เจ็บนานขึ้นและถี่ขึ้น แม้ว่าจะเปลี่ยนอิริยาบถแล้วก็ตาม อาการจะไม่ลดลง และไม่หายไป

• จะเจ็บบริเวณหลังแล้วปวดร้าวมาที่ด้านหน้า บริเวณหัวหน่าวและท้องน้อย บางทีก็จะร้าวลงขา ในบางรายอาจมีอาการปวดท้องอยากถ่ายอุจจาระและถ่ายบ่อยด้วย

• การหดรัดตัวของมดลูกจะแรงขึ้นและเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ระยะเจ็บจะนานขึ้น

• มีมูกปนเลือดออกทางช่องคลอด ลักษณะเป็นมูกปนเลือดสด

• มีถุงน้ำแตก

 เมื่อใดจะต้องไปโรงพยาบาล ?

เมื่อเกิดอาการเจ็บจริง โดยสังเกตว่าต่างจากตอนเจ็บเตือนในกรณีที่อาการเจ็บนั้นคงอยู่นานตลอดชั่วโมง และหรือเจ็บปวดมากขึ้นเรื่อยๆ ประมาณ 15 นาที ต่อครั้ง 
  
เตรียมคลอด

ช่วงใกล้คลอดคุณควรฝึกการผ่อนคลาย และเทคนิคการหายใจระหว่างที่มีอาการมดลูกหดรัดตัวเป็นก้อนนูนแข็ง หรือระหว่างการเจ็บครรภ์เตือน นอกจากนี้ควรเตรียมแผนการคลอดที่ยืดหยุ่นไว้ เพราะการคลอดอาจไม่เป็นไปตามแผนที่คิดไว้ก็ได้ ที่สำคัญ ทุกครั้งที่คุณหมอบอกให้เบ่ง.. คุณจงเบ่ง พร้อมกับจรดใจไว้คอยฟังเสียงร้องแรกของลูก คุณจะรู้ว่าไม่มีบทเพลงใดในโลกนี้ที่จะไพเราะเท่า….

สวัสดีโลกภายนอก

สัปดาห์นี้พร้อมแล้วกับการ จ๊ะเอ๋เบบี๋!!! กันหรือยังจ๊ะ ตอนนี้คุณแม่คงจะอยู่ที่โรงพยาบาลไหนสักแห่งอยู่ใช่มั้ยคะ เตรียมตัว เตรียมใจให้ดี ให้พร้อมกันค่ะ เพราะเรากำลังจะเข้าสู่ช่วงเบ่งลูกน้อยกันแล้ว เอ้า...1 2 3 อึบบบ!!! ช่วงนี้เจ็บหน่อยนะคะ เพราะลูกกำลังกลับศีรษะลงมาอยู่ตอนล่างของมดลูกแล้ว อีกนิดเดียวค่ะ คุณพ่อเตรียมกล้องวีดีโอ เพื่อบันทึกภาพวินาทีแรกของชีวิตให้ดีดีนะคะ อย่าตื่นเต้นไปค่ะ และแล้วเสียงแรกก็ร้องทักทายคุณพ่อคุณแม่ให้ได้ตื้นตันใจ จนน้ำตาไหลกันเลยล่ะค่ะ Happy Happy ค่ะ


แหล่งที่มา นิตยสาร : Pregnancy Advisor & Diary